top of page

โปรโมทเมืองยังไงให้คนด่าไปตลอดกาล

อัปเดตเมื่อ 22 เม.ย. 2566



เรียกได้ว่าร้อนแรงสุดๆกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ เพราะแคนดิเดตแต่ละท่านต่างก็งัดกลยุทธ์จัดนโยบายเด็ดเพื่อพัฒนาเมืองหลวงชนิดที่ว่าจัดหนักจัดเต็ม แบบไม่มีใครยอมใคร และถูกจับตามองจากคนทั่วประเทศไม่ใช่เพียงแค่ในกรุงเทพฯเท่านั้น


ที่ผ่านมากรุงเทพฯ ได้มีการออกแคมเปญมามากมาย ได้รับทั้งเสียงชื่นชมและคำวิพากษ์วิจารณ์แตกต่างกันไป วันนี้ผมจะหยิบยกแคมเปญในตำนาน สโลแกนดังวลีเด็ดอย่าง กรุงเทพฯ…ชีวิตดีๆที่ลงตัว และ กรุงเทพเปลี่ยนไปแล้ว มาพูดถึงเสียหน่อย เพราะเป็นแคมเปญชื่อดังที่เรียกได้ว่าโดนแซะแบบไม่หวาดไม่ไหว เรามาดูกันดีกว่าครับว่าแคมเปญนี้ก้าวพลาดไปตรงไหนบ้าง


1. การบอกว่าตัวเองดีคงไม่ดีเท่าไหร่

ความคิดของคนในสังคมสมัยนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก หลายคนกำลังรณรงค์เรื่องการยอมรับความหลากหลายและความไม่สมบูรณ์แบบ การโอ้อวดตัวเองว่าดีพร้อมทุกด้านจึงเป็นวิธีที่ล้าหลังไปแล้วครับ ลองเปลี่ยนมาเป็นการเชิญชวน การให้ความหวังในทาง positive ว่ามันจะดีขึ้น หรือการให้คนอื่นชื่นชมผลงานมากกว่าการอวดอ้างด้วยตัวเองจะเข้ากับสไตล์สังคมสมัยนี้มากกว่า

2. การทำแบรนด์ที่ดีต้องมีเหตุผลรองรับ

ความท้าทายหลักของแต่ละแคมเปญคือการทำยังไงให้คนเชื่อ อย่างแคมเปญ กรุงเทพเปลี่ยนไปแล้ว เป็นแคมเปญที่ถูกวิจารณ์เยอะและดูไม่น่าเชื่อถือเพราะเป็นการเหมารวมว่าทั้งกรุงเทพฯ นั้นเปลี่ยนไปแล้ว ทั้งๆที่มีแค่บางอย่างที่พัฒนาแล้วแต่ยังมีอีกมากที่กำลังจะพัฒนา ควรแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการมากกว่าว่ากำลังทำจริง กำลังแก้ตรงนี้นะ หรือตรงนี้แก้สำเร็จแล้วนะ จะสร้างความน่าเชื่อถือและทำให้เห็นถึงความตั้งใจได้ดีกว่าครับ


3. ความคงเส้นคงวาในการสื่อสาร

หลายครั้งที่คำพูดหรือการให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าฯ ขัดแย้งกับสโลแกนที่สร้างขึ้นมา ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือและเกิดข้อกังขาขึ้น ทางแก้ของเรื่องนี้ก็คือ Communication guideline หรือการไกด์คำพูดขององค์กรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งไกด์ไลน์เป็นคนละเรื่องกับการจำบทนะครับ คำพูดแตกต่างกันแต่สื่อถึงเป้าหมายเดียวกัน หรือการฝึกอบรมในองค์กรเพื่อคงความคงเส้นคงวาของการสื่อสารจะทำให้น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นครับ


4. ขาดการปรับตัวอย่างทันท่วงที

อย่าคิดว่าแค่ปล่อยแคมเปญแล้วเสร็จๆไป แต่ควร "รับฟังเสียงตอบรับ" จากประชาชนด้วย ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการทำแบบสำรวจ หรือใช้ social listening tools เข้ามาช่วยเพื่อดูความเห็นคนบนเน็ตและนำมาต่อยอดปรับปรุงแคมเปญให้ดีขึ้น เปลี่ยนคำเสียดสีให้เป็นพัฒนาการ จะช่วยลบภาพลักษณ์ในแง่ลบออกไปจากใจคนได้ครับ


ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะยังคงดุเดือดแบบนี้ทุกครั้ง เพราะแบรนด์กรุงเทพมหานครเป็นแบรนด์ใหญ่ที่อยู่ในสายตาหลายๆคน และทุกแคมเปญที่ออกมามันไม่ได้มีผลแค่ระยะสั้น แต่จะถูกจับตามองในระยะยาว เพราะฉะนั้นต่อให้พยายามปรับภาพลักษณ์ขนาดไหน แต่ถ้าขาด "ผลงานจริง" มารองรับ ก็เป็นผลลบกับองค์กรอยู่ดี สุดท้ายแล้ววิธีตั้งรับที่ได้ผลดีที่สุดก็คือการทำให้คนเห็นด้วยความจริงใจนั่นล่ะครับ

ดู 29 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page